×
แชทกับหน่วยงาน
เทศบาลตำบลห้วยป่าหวาย
ยินดีให้บริการค่ะ....
#หมอชวนรู้โดยแพทยสภา ตอนที่ 153 "ผู้สูงอายุควรเตรียมตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้หกล้ม"
รายละเอียด : การหกล้มหรือการเดินไม่มั่นคงหรือสูญเสียการทรงตัวนั้นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่ไม่ควรมองข้าม ยิ่งอายุมากขึ้นจะยิ่งพบว่ามีการสูญเสียการทรงตัวมากขึ้น เนื่องจากระบบการควบคุมการทรงตัวของผู้สูงอายุจะเสื่อมสภาพไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น และนำไปสู่โอกาสการพลัดตกหกล้มที่เพิ่มขึ้นตามวัย เหตุการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ต้องการอย่างยิ่ง เนื่องจากระบบอื่นๆ ของผู้สูงอายุ อันได้แก่ ระบบกระดูก ก็มีการเสื่อมถอยลงในลักษณะของมวลกระดูกที่ลดลงเพิ่มมากขึ้นตามวัยเช่นเดียวกัน หรือเรียกว่า ภาวะกระดูกพรุน หากสองประเด็นปัญหานี้โคจรมาพบกันก็คงลงเอยด้วยการเกิดกระดูกหัก ซึ่งเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของผู้สูงวัยเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นในการดูแลผู้สูงอายุจึงควรให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องของการพลัดตกหกล้มเป็นอย่างยิ่ง . จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการหกล้ม พิจารณาจากประวัติการหกล้มในปีที่ผ่านมาหรือประวัติเสียการทรงตัว ทำให้การเดินไม่มั่นคงเหมือนที่เคยเป็น หรืออาจทราบจากการตรวจประเมินความสามารถในการทรงตัว ซึ่งแพทย์สามารถทำได้โดยวิธีง่ายๆ คือ ความสามารถในการยืนขาเดียว ควรทำได้นานกว่า 30 วินาที หรือความสามารถในการยืนต่อส้น ก็ควรทำได้นานเกิน 30 วินาทีเช่นกัน การยืนต่อส้น คือการยืนที่เอาส้นเท้าข้างหนึ่งไปวางไว้หน้าปลายนิ้วเท้าของขาอีกข้างหนึ่ง ในขณะทดสอบควรต้องระวังการหกล้มด้วย โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากและมีปัญหาการสูญเสียการทรงตัว หากไม่สามารถทำได้เกิน 30 วินาที แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่มีการทรงตัวบกพร่อง และมีโอกาสเกิดการหกล้ม . หากท่านเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัวและมีความเสี่ยงต่อการหกล้ม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุที่นำไปสู่การหกล้มได้ ซึ่งมีหลายประการ เช่น โรคประจำตัวบางอย่าง โดยเฉพาะโรคทางระบบประสาทที่ทำให้เสียการทรงตัว เช่น โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคน้ำในโพรงสมองเพิ่มโดยที่แรงดันปกติ นอกจากนั้นการมองเห็นภาพที่ไม่ชัดเจน หรือกรณีเป็นต้อที่มีผลต่อการมองเห็น และการกะระยะ การใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาท ซึ่งเป็นยากลุ่มที่รับประทานแล้วจะมีอาการง่วง เช่น ยานอนหลับ ยาคลายวิตกกังวล ยาต้านเศร้า เป็นต้น ในผู้ที่มีกำลังกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือมีภาวะขาดวิตามินดี รวมถึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม เช่น พื้นลื่น พื้นต่างระดับ แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ สายไฟหรือของระเกะระกะที่อยู่ตามพื้น เป็นต้น สาเหตุของการหกล้มนั้นมักเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน จึงควรต้องค้นหาและให้การแก้ไขในทุกๆ เรื่อง แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูมีบทบาทในการสอนการออกกำลังกายเพื่อฝึกการทรงตัว ซึ่งจะช่วยพัฒนาความสามารถในการทรงตัวและป้องกันการหกล้มได้ . #ตัวอย่างการฝึกการทรงตัว ได้แก่ การยืนย่ำเท้าอยู่กับที่เหมือนทหารเดินสวนสนาม การฝึกยืนย่อเข่าเล็กน้อยแล้วเหยียดเข่าขึ้น การฝึกยืนเขย่งปลายเท้าขึ้นลง การฝึกยืนเอื้อมให้ไกลที่สุดโดยไม่ล้ม เมื่อทำได้ดีขึ้น ให้เพิ่มเป็นการฝึกเดินเขย่งปลายเท้า เดินส้นเท้า เดินไปด้านข้าง เดินถอยหลัง และเดินต่อส้น เป็นต้น โดยขณะเริ่มทำ ควรหาที่เกาะที่มั่นคงก่อน เช่น โต๊ะ หรือ เก้าอี้ไม่มีล้อ เพื่อป้องกันการหกล้มที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะฝึก หลักการฝึกควรเริ่มจากท่าง่ายๆ ก่อน และทำเพียง 1-2 ท่า แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มความยากตามความสามารถ จะเห็นว่าท่าง่ายๆ ที่เริ่มทำจะเป็นการฝึกยืนอยู่กับที่ และเมื่อทำได้เก่งขึ้น จะทำท่าที่ยากขึ้นในท่าเดินนั้น ควรหาที่เกาะ เช่น ใช้มือเกาะกำแพงห้อง เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยค่ะ หมั่นฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการทรงตัวที่นับวันจะลดลงตามวัยกันนะคะ
ผู้โพส : admin